เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
ตลอดกาลสืบเนื่องกัน ตลอดกาลติดต่อกัน ตลอดกาลเป็นลำดับ ตลอดกาล
ติดต่อกันเหมือนระลอกคลื่น ตลอดกาลเป็นไปต่อเนื่องไม่ขาดสาย ตลอดกาล
สืบต่อกันกระชั้นชิด ตลอดกาลก่อนภัต หลังภัต ตลอดปุริมยาม มัชฌิมยาม
ปัจฉิมยาม ตลอดข้างแรม ข้างขึ้น ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน ตลอดปฐมวัย
มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย รวมความว่า ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
คำว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว อธิบายว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง” พิจารณาเห็นโทษในภพแล้วว่า “สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์
ฯลฯ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้น
ทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา” รวมความว่า พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด ด้วยเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึง
กล่าวว่า
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้นและฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิจ
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด
[156] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้ากล่าวว่า)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียว เหมือนนอแรด (5)
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท อธิบายว่า
คำว่า ตัณหา ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา
โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา
คำว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา อธิบายว่า ต้องการ ปรารถนา คือ ยินดี
มุ่งหมาย มุ่งหวังความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ ความสิ้นคติ
ความสิ้นอุปบัติ ความสิ้นปฏิสนธิ ความสิ้นภพ ความสิ้นสังขาร ความสิ้นวัฏฏะ
รวมความว่า ปรารถนาความสิ้นตัณหา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :491 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [จตุตถวรรค] 8. ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
คำว่า ไม่ประมาท อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น ทำโดยเคารพ
ทำติดต่อ ฯลฯ ชื่อว่าไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย รวมความว่า ปรารถนา
ความสิ้นตัณหา ไม่ประมาท
คำว่า ไม่โง่เขลา ในคำว่า ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ อธิบายว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นบัณฑิต มีปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มี
ปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเครื่องทำลายกิเลส รวมความว่า ไม่โง่เขลา
คำว่า คงแก่เรียน อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้น เป็นพหูสูต ทรงจำ
สิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ สั่งสมสิ่งที่เล่าเรียนมาแล้วไว้ได้ คือ ธรรมเหล่าใด ที่มี
ความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ธรรมเห็น
ปานนั้นเป็นธรรมที่ท่านเล่าเรียนมามาก ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอด
ชัดเจนตามทฤษฎี รวมความว่า คงแก่เรียน
คำว่า มีสติ อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นเป็นผู้มีสติ คือ เพียบพร้อม
ด้วยสติและปัญญารักษาตนอย่างยอดเยี่ยม ระลึกได้ ตามระลึกถึงกรรมที่ทำ คำที่
พูดไว้นานแล้วได้ รวมความว่า ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
คำว่า ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น อธิบายว่า ญาณ ท่าน
เรียกว่า สังขาตธรรม ได้แก่ ความรู้ทั่ว กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย
ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ1
คำว่า ผู้มีสังขาตธรรม อธิบายว่า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นผู้มีสังขาตธรรม
คือ ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็นแจ้งธรรม ได้แก่
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้รู้ธรรม ผู้เทียบเคียงธรรม ผู้พิจารณาธรรม ผู้รู้แจ้งธรรม ผู้เห็น
แจ้งธรรมว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ฯลฯ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา”

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 5/58

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :492 }